ทลายกำแพงอินเทอร์เน็ต ชี้ทุกวัยหากไม่มีความยั้งคิดนับเป็นกลุ่มเสี่ยงโลกออนไลน์ หวังพบความจริงใจได้บนโลกออนไลน์ ด้านสมาชิกเผยใช้งานจริงทำ Power Point สอนนักเรียน หลังเกษียณอายุ ระบุคอมพิวเตอร์ คือเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ที่สุด...
โลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้ปิกั้นผู้สูงอายุอีกต่อไปแล้ว เมื่อ ชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผ้สูงวัย หรือ โอพีพีวาย คลับ โดย บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกกรรม ตีตั๋ว ดูหนัง โดยนำภาพยนตร์เรื่อง "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว" กลับมาฉายให้สมาชิกโอพีพีวาย และผู้สูงวัยชม เนื่องในโอกาสสัปดาห์วันผู้สูงอายุ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี และเกิดความกล้าที่จะทดลองใช้คอมพิวเตอร์ และสร้างจิตสำนึก รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ
นางสาวสุธีรา จำลองศุภลักษณ์ หรือครูเจี๊ยบ ผู้จัดการอาวุโส แผนกเลิร์นนิ่งมีเดีย บริษัท ล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) ให้รายละเอียดว่า โครงการนี้เป็นชมรมอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย หรือโอพีพีวาย (Old People Playing Young) เปิดมาตั้งแต่ปี 2543 จากจุดเริ่มต้นของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช บุคคลที่ไม่ยอมแพ้กับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันอายุ 82 ปี แต่ยังกระฉับกระเฉง และเล่นคอมพิวเตอร์ตลอด ให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา เพราะเห็นคุณค่าของผู้สูงวัย มีเป้าหมายหลัก คือส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์บนโลกอินเทอร์เน็ตได้
ครูเจี๊ยบ ให้รายละเอียดต่อว่า ขณะนี้ ชมรมมีสมาชิกจำนวน 3,800 ราย อายุระหว่าง 45-89 ปี เฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะศูนย์อบรมอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ก็มีจากต่างจังหวัดเข้ามาเรียน บางครอบครัวที่มีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ โดยแบ่ง 3 กลุ่ม คือ 1.เกษียณอายุ 2.เจ้าของกิจการ และ3.วัยทำงาน ทั้งนี้ แต่ละคอร์สเปิดรับจำนวน 24 คน ขณะเดียวกัน มีสมาชิกทุกกลุ่มสามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริง เช่น กลุ่มเจ้าของกิจการ สอนลูกน้อง และให้รู้เรื่องมากขึ้น ส่วนวัยเกษียณจะคุยกับเพื่อน และเรียนเวิร์คชอปทำการ์ด มอบเป็นของขวัญเมื่อถึงช่วงเทศกาล
ผจก.อาวุโส แผนกเลิร์นนิ่งมีเดีย บ.ล็อกซเลย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลักสูตรของโครงการมี 3 อย่าง คือ 1.หลักสูตรเบื้องต้น สอนตั้งแต่เริ่มเปิดเครื่องและการใช้งาน 2.หลักสูตรระดับกลาง เป็นโปรแกรมพื้นฐานทั่วไป และ3.หลักสูตรระดับสูง โปรแกรมที่ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยไม่ควรกลัวการเรียนรู้เทคโนโลยี เพราะไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งนี้ เข้าใจว่าผู้ที่ไม่อยากเรียนรู้ อาจจะผ่านประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำจากการเรียนมาก่อน
"เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ ถ้าผู้ใหญ่เริ่มรู้เรื่อง และคุ้นเคย ไม่กลัว และใช้เองเป็นบ้างความใกล้ชิดระหว่างผู้สูงวัยและลูกหลานจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าทลายความกลัวได้ แล้วก้าวเข้ามาจะรู้ว่าไม่ได้ยาก หรือน่ากลัวอย่างที่ผู้สูงวัยคิด เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะสัมผัส กับประสบการณ์ หรือเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ถูกทาง เช่น ให้วัยรุ่นสอน เพราะสมาชิกบางรายบอกว่าเรียนกับลูกไม่ได้ จะทะเลาะกัน เมื่อจำไม่ได้" นางสาวสุธีรา กล่าว
นางกรรณิกา ธรรมเกษร นักจัดรายการวิทยุคลื่น 89.5 เมกะเฮิร์ตซ (Sweet FM) ในฐานะผู้ดคยเรียนกับโครงการ เปิดมุมมองว่า คอมพิวเตอร์เป็นอีกเทคนิคที่ทันสมัย หากย้อนกลับไปในอดีต การติดต่อใช้การเขียนจดหมาย ตามมาด้วยโทรศัพท์ ปัจจุบันรุ่นลูกหลานเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์ แต่ทั้งหมดคือการสื่อความความคิด ความรู้สึกต่อกัน ขณะเดียวกัน เมื่อมีคอมพิวเตอร์ก็ไปได้เร็วกว่าการเขียนจดหมาย และโทรศัพท์ อีกทั้ง ไม่สิ้นเปลือง สามารถทำได้เมื่ออยู่กับที่และไม่รบกวนผู้อื่น
"โดยส่วนตัวเรียนมาตั้งแต่ปี 2551 หรือ 1 ปีกว่าแล้ว ตั้งใจว่าต้องนำเสนอเวลาใครมีปัญหาอยากพบเราแล้วไม่ได้เจอตัว เพราะถามมาตอบไปได้ แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อกับแฟนคลับอย่างไร หลังจากได้รู้จักครูเจี๊ยบจึงเสนอให้ไปเรียน 30 ชั่วโมง 10 ครั้ง ได้ประโยชน์จากการตอบอีเมล์ เป็นการสื่อวิธีคิด ความรู้สึกไปให้ผู้ที่รับได้ และเป็นไปได้ดั่งฝัน" นักจัดรายการวิทยุ กล่าว
นางสาวกรรณิกา แสดงความคิดเห็นต่อว่า ก่อนที่จะสัมผัสโลกออนไลน์ โดยส่วนตัวรับทราบข้อมูลมาจากข่าว จึงมองว่า เหตุการณ์แง่ลบทางโลกออนไลน์ที่เป็นข่าวนั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละคน ถ้ามีวิจารณญาณในการตัดสินใจ การรู้ทัน ยั้งคิด ปรึกษาหารือกับคนใกล้ชิด อาทิ ลูก เพื่อน ครู ก็จะยิ่งเปิดมุมมองกว้างขึ้นและเกราะป้องกันตัวให้แข็งแรงมากขึ้น
นักจัดรายการวิทยุ เตือนสติอีกว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงในโลกออนไลน์ คือ ผู้ไม่มีความยั้งคิดจะไม่ว่าวัยไหนก็ตาม หากหวือหวากับสิ่งที่ล่อตาล่อใจ และขาดประสบการณ์ชีวิต เพราะฉะนั้นจะฮือฮาเข้าไปเมื่อเห็นความแปลกใหม่ หลังจากเข้าไปดูแต่ละไฟล์ อย่างเว็บไซต์ยอดนิยมไฮไฟว์ เพราะบางครั้งรูปและชื่อไม่แสดงตัวตนที่แท้จริง ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่ที่การไตร่ตรอง ให้เกียรติซึ่งและกัน รวมถึงดูความพยายามและความตั้งใจของฝ่ายตรงข้ามว่าต้องการจะเป็นเพื่อนกันจริงหรือเปล่า หรือเพียงแค่เพิ่มเข้ามาให้รู้จักกัน
นางกรรณิกา ทิ้งท้ายด้วยว่า ผู้หลงเข้าไปในโลกออนไลน์ ต้องมีความหนักแน่น? อย่าให้สิ่งตื่นตาตื่นใจต่างๆ เป็นตัวปรุงแต่งอารมณ์ให้ออ่นไหวง่าย สำหรับผู้สูงอายุ บางครั้งประสบการณ์ กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนละระดับกัน เพราะฉะนั้น การจินตนาการ และเทคโนโลยีอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้นต้องถามผู้รู้ และศึกษา รวมถึงไม่ประมาท เพราะขณะนี้มีการหรอกล่อจากการใช้เทคโนโลยีหลายรูปแบบ
นายทรงพล มะลิกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ หรือ สปร.หนึ่งในสมาชิกชมรมโอพีพีวาย เปิดเผยว่า ในอดีตเคยจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ผู้ดูแลเครื่องห้าม เพราะกลัวว่าจะทำข้อมูลหาย หลังเกษียณอายุราชการแล้วจึงคิดว่าต้องมาเรียนให้ได้ ตั้งแต่หลักสูตรเบื้องต้น หลักสูตรกลาง หลักสูตรระดับสูง ขณะนี้รวมกลุ่มจำนวน 10 คน ให้ครูสอนหลักสูตรพิเศษ นอกจากนี้ หลังจาก เกษียณอายุราชการแล้ว ถูกเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษ สอนปริญญาโท จึงใช้ความรู้จากโปรแกรมพาวเวอร์พ้อยท์ หรือ พรีเซนเทชั่น มาช่วยปรับปรุงการสอน โดยใช้แล็ปท็อปเพียงตัวเดียว เพราะใช้คนอื่นทำไม่ถูกใจ
ที่ปรึกษาอาวุโส สปร.ชี้แจงต่อว่า เทคโนโลยีมีส่วนทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบทบาทของอินเทอร์เน็ตได้มาก ทั้งนี้ เกิดจากการไปแนะนำหลายคน ว่าในวัยผู้สูงอายุ ผู้ที่จะเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์ที่สุด คือ คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังเปิดอินเทอร์เน็ตดูข่าวสารได้ทั่วโลก และสามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการโดยพิมพ์คำลงไป ก็ออกไปมาหลายหน้า อย่างไรก็ตาม ช่องว่างของโลกออนไลน์ขณะนี้ลดลงบ้างแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่มีข้อแก้ตัวว่า เล่นคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ สายตาไม่ดี ทั้งนี้ ถ้าลองมาเรียนรู้ และมีเพื่อนร่วมเรียนจะรู้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นที่เก่งและมีความรู้มาก
"ผู้สูงอายุที่กำลังกลัวอยู่ เหมือนความรู้สึกส่วนตัวตอนแรก กลัวว่าเครื่องจะเสีย กลัวว่าจะทำให้ของพัง อย่าคิดเลยเหมือนมาเล่นเครื่องจักร เครื่องยนต์ เหมือนการขับรถยนต์ จะรู้ว่าตัวนี้ต้องทำหน้าที่อะไรเพราะตัวโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้สนุกมาก เนื่องจากคอมพิวเตอร์ฉลาด และมีความจำดีมาก แต่ไม่มีความคิด เพราะความคิดอยู่ที่ตัวคน จึงต้องสั่งแล้วจะทำงานได้เหมือนทาสที่ซื่อสัตย์" นายทรงพล ให้กำลังใจ
หลังจากเปิดตัวมาร่วม 10 ปี เว็บไซต์ happyoppy.com (www. happyoppy.com) นับว่าเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้สูงอายุอย่างเนืองแน่น จากการบอกเล่า และชักชวนของบุคคลวัยเดียวกัน ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนมีคุณค่า ไม่ได้อยู่คนดียวบนโลก แต่กลับเป็นที่ต้องการในสังคมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่สนใจในกรุงเทพฯ สามารถสมัครสมาชิกและติดตามข่าวสารได้ตามเว็บไซต์ข้างต้น สำหรับผู้สูงอายุต่างจังหวัดอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุต้องไม่ลืมว่าภาพที่เห็นบนโลกออนไลน์นั้นเปรียบเสมือนดาบ 2 คม ที่มีทั้งคุณและโทษ และพึงยืนอยู่บนความถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างให้ลูกหลานตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่เดินทางผิดบนโลกออนไลน์เหมือนตัวอย่างข่าวที่เคยเกิดขึ้น...
กนกรัตน์ โกวิชัย
itdigest@thairath.co.th
ที่มา: thairath.co.th