โพสต์ทูเดย์ — จุฬาฯ แนะใช้เทคโนโลยี รุกฮาลาลโลก 2.6 แสนเหรียญสหรัฐ พร้อมไทยควรใช้ความร่วมมืออินโดฯ-มาเลย์เป็นช่องทาง เล็งปั้นภูเก็ตเป็นฮับฮาลาล
นายวินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโอกาสในการทำธุรกิจฮาลาลทั่วโลก โดยการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อช่วยเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกให้ได้มากขึ้น จากปี 2550 ไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลแค่ 0.64% คิดเป็นเงิน 1,711 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลก กระทบต่อหลายสินค้า-บริการ แต่ตลาด ฮาลาลกระทบน้อย หลายฝ่ายจึงเห็นว่าตลาดฮาลาล น่าจะเป็นความหวังสำคัญ ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มประเทศมุสลิม ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดฮาลาลทั่วโลกมีถึง 2.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การแข่งขันในตลาดฮาลาลเข้มข้นขึ้น
“ธุรกิจฮาลาลถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ และหลังจากที่ไทยได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ 3 ฝ่าย อินโดนีเชีย มาเลเชีย และไทย ยิ่งช่วยให้การส่งออกสินค้าฮาลาลขยายตัว” นายวินัย กล่าว
นอกจากนี้ ทางจุฬาฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงานการประชุมนานาชาติ ควบกับงานเอ็กซ์โป ที่ จ.ภูเก็ต ขึ้นระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-3 พ.ค. 2552
เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจฮาลาล และการท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมไทยมุสลิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างให้เป็นเขต อุตสาหกรรมฮาลาล
ด้านนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมีกลุ่มประเทศมุสลิมเข้าร่วมงานกว่า 10 ประเทศ มีจำนวนคนราว 3,000-4,000 คน เดินทางเข้ามายังภูเก็ต เชื่อว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูเก็ตคึกคักมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมายอดนักท่องเที่ยวโดยรวมจะหดหายไปราว 20%
ที่มา: posttoday.com