จีเอสเอ็มเอ แถลงการณ์ชมรัฐบาลเวียดนาม เกาะติดขบวนไวแม็กซ์อาเซียน กรุยทางประชากรเข้าถึงโลกบรอดแบนด์ เตือนไทยรั้งท้ายแล้ว
สมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สายทั่วโลก ออกแถลงการณ์ว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลเวียดนามบุกเบิกเครือข่ายโมบาย บรอดแบนด์ (ไวแม็กซ์) ในเวียดนาม และมีแผนเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพื่อรองรับความต้องการเครือข่ายบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว
นายริคาร์โด ทาวาเรส รองประธานอาวุโสฝ่ายนโยบายสาธารณะ สมาคมจีเอสเอ็มเอ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นก้าวย่างสำคัญยิ่งของเวียดนาม ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม โดยถือเป็นการบุกเบิกบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศซึ่งประชากรกว่า 66% มีโทรศัพท์มือถือใช้ แต่มีเพียง 3% ที่สามารถใช้เครือข่ายบรอดแบนด์ที่บ้านได้
“ปัจจุบันไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังไม่มีการให้บริการบรอดแบนด์บนอุปกรณ์มือถือ ในขณะที่การวิจัยหลายสำนักพบว่าเครือข่ายบรอดแบนด์ ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น ดังนั้นเราจึงหวังว่าไทยจะอ้าแขนรับเครือข่ายโมบายล์บรอดแบนด์เช่นเดียวกับที่เวียดนามทำ” นายทาวาเรสกล่าว
ทั้งนี้ บริษัท 4 แห่งที่ได้รับอนุญาตให้ให้บริการเครือข่ายโมบาย บรอดแบนด์ ในเวียดนาม ประกอบด้วย เวียดเทล, วินาโฟน, โมบิโฟน และบริษัทหุ้นส่วนอีวีเอ็น เทเลคอม และฮานอย เทเลคอม
ขณะที่ รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจากได้รับอนุญาตให้บริการไวแม็กซ์แล้ว บริษัททั้ง 4 รายยังได้รับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ในเวียดนามด้วย
ก่อนหน้านี้ บริษัท อินเทล คอร์ปอเรชั่น ยังได้เปิดเผยผลการศึกษาถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่ประเทศในอาเซียนจะได้รับหากมีการจัดสรรคลื่นและให้ใบอนุญาตบริการไวแม็กซ์ ซึ่งสะท้อนว่ายิ่งมีขนาดประชากรมาก ก็จะยิ่งกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก
ผลการศึกษาดังกล่าวครอบคลุม 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย คาดว่าจะเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงค่าใบอนุญาต 1,066 ล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ 407 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 387 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 125 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศไทยนั้น หากจัดสรรคลื่นและให้ใบอนุญาตในช่วงนี้ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 284 ล้านบาท แต่หากยิ่งช้าตัวเลขนี้จะลดลงเรื่อยๆ แต่ละปี
นอกจากนี้ ใบอนุญาตใหม่ยังจะช่วยสร้างมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากการใช้งานของผู้บริโภค โดยอินโดนีเซีย คาดว่าตัวเลขจะอยู่ในระดับ 19,197 ล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ 7,330 ล้านดอลลาร์, เวียดนาม 6,966 ล้านดอลลาร์, มาเลเซีย 2,246 ล้านดอลลาร์ และไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 5,106 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวอ้างอิงจากข้อมูลที่อินเทล แคปิตอล เข้าไปร่วมลงทุนไวแม็กซ์ในประเทศต่างๆ และอยู่บนพื้นฐานของการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.3 กิกะเฮิรตซ์ เป็นใบอนุญาตแบบทั่วประเทศ และแต่ละรายได้รับการจัดสรรแถบความถี่รายละ 30 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่จะสอดคล้องกับการคืนทุนภายใน 6.5 ปี
ที่มา: bangkokbiznews.com