บลูโค้ท โชว์ศักยภาพบริการ Blue Coat WebPulse บนอุปกรณ์ PacketShaper รุ่นใหม่ สามารถใช้ตรวจสอบเว็บไซต์ได้ลึกลงไปถึงในระดับ URL พร้อมจัดแบ่งเป็น 80 หมวดหมู่ รวมไปถึงใช้จัดการข้อมูลแอปพลิเคชันกว่า 700 แอปฯ ภายใต้ 23 ประเภท ช่วยเพิ่มศักยภาพในการจัดการเครือข่ายให้แก่ธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่
โจนาธาน แอนเดอร์สัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชัน เอเชีย แปซิฟิก บลูโค้ท ซิสเต็มส์ อิงค์ กล่าวว่า จากกระแสการเติบโตของเว็บแอปพลิเคชัน ทำให้การใช้งานบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ HTTP ซึ่งปัจจุบัน อุปกรณ์จัดการเครือข่ายไม่สามารถจำแนกลึกลงไปในรายละเอียดของแต่ละ URL ได้ ทำให้ PacketShaper ถือเป็นอุปกรณ์รุ่นแรกๆ ที่สามารถช่วยจำแนก URL เพื่อจัดการแบนวิธภายในองค์กรให้รองรับการใช้งาน
"การขยายตัวของ HTTP ในปี 2009 เพิ่มสูงถึง 74% ในขณะที่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 84% ในช่วงเดียวกัน แต่ที่มีการเติบโตที่สุดคงหนีไม่พ้นการแบ่งปันไฟล์วิดีโอบนเว็บไซต์หลักอย่างยูทูป ที่มีอัตราเติบโตในช่วงที่ผ่านมากว่า 90% ซึ่งการเข้าถึงเหล่านี้ต้องใช้งานบน HTTP เป็นหลัก"
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บลูโค้ทมองว่า บริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยเข้ามาจำแนกการเข้าถึงเว็บไซต์ HTTP ให้ละเอียดขึ้น ไม่ใช่บล็อกทุกๆอย่างที่ไม่จำเป็น แต่ใช้การจำกัดแบนวิธในการเข้าถึงให้เหมาะสมจะดีที่สุด
โดย PacketShaper ทุกรุ่น สามารถรองรับการใช้งาน Blue Coat WebPulse ที่มีฐานข้อมูลอบู่บนคลาวด์ครอบคลุมผู้ใช้กว่า 70 ล้านรายทั่วโลก ที่ช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบเว็บไซต์และอาศัยข้อมูลร่วมกัน ทำให้สามารถจัดการและแบ่งหมวดหมู่ของเว็บแอปพลิเคชันและเว็บคอนเทนต์ได้แบบเรียลไทม์
"มีการสำรวจในสหรัฐฯพบว่า การบล็อกเว็บไซต์ไม่ได้ช่วยให้พนักงานทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่การอนุญาติให้พนักงานเข้าใช้บางส่วนโดยมีการควบคุมจะได้ประโยชน์ในการทำงานมากกว่า ส่งผลให้ในสหรัฐฯมีการใช้เครือข่ายสังคมในการทำตลาดสินค้าเป็นจำนวนมากตามมา"
บริการ WebPulse จะจำแนก URL แต่ละรายการออกเป็น 4 หมวกหมู่ ช่วยให้สามารถตรวจสอบและจัดการได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่นองค์กรสามารถอนุญาตให้พนักงงานเข้าถึงเฟซบุ๊กเพื่ออัปเดตสถานะและสนทนาได้ แต่จำกัดแบนวิธสำหรับเกมในเฟซบุ๊กที่เป็นเว็บแอปฯได้
จากการที่สามรถเข้าไปจำแนกได้ถึงแต่ละ URL จึงทำให้บริษัทต่างๆ สามารถแยกแยะความแตกต่างของเว็บทราฟิกที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียดชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่เห็นเป็นเพียงพอร์ต 80 แต่ปัจจุบันสามารถลงรายละเอียดได้ถึงแต่ละ URL ส่งผลให้สามารถปรับขนาดเพื่อรองรับการขยายตัวของคอนเทนต์และแอปพลิเคชันใหม่ๆได้
สำหรับอุปกรณ์ PacketShaper 12000 รุ่นล่าสุด สามารถจัดการข้อมูลด้วยอัตราความเร็ว 3 Gbps เหมาะสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีการใช้งานทราฟิกสูง เช่น หน่วยงานภาคการศึกษา บริษัทน้ำมัน แม้กระทั่งแบงค์ ก็ต้องมีการจัดการภายในที่ดี โดยคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม 2553 ราคาเริ่มต้นที่ 55,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท)
ในขณะเดียวกันบลูโค้ทก็ยังมีอุปกรณ์ PacketShaper 900 ราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 2 แสนบาท สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดเล็ก ที่มีจำนวนการใช้งานแบนวิธไม่มากนัก แต่สามารถใช้บริการในรูปแบบเดียวกันกับ PacketShaper 12000
ที่มา: manager.co.th