ชาวเฟซบุ๊กมนุษย์เงินเดือนในสหรัฐฯใจชื้นขึ้นเป็นกอง เพราะล่าสุดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ ประกาศว่า การไล่ออกพนักงานซึ่งวิจารณ์หัวหน้างานบนเครือข่ายสังคมนั้นเป็นเรื่องผิดกฏหมายคุ้มครองแรงงานอเมริกัน
คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Labor Relations Board) ระบุว่ากรณีที่บริษัทในรัฐคอนเนตทีคัต ตัดสินโทษไล่ออกแก่อดีตพนักงานนามดาวน์แมรี ซูซา (Dawnmarie Souza) ซึ่งระบายความคับแค้นใจในการทำงานบนเฟซบุ๊กนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยย้ำว่าการวิจารณ์หัวหน้างานบนเฟซบุ๊กของนั้นเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ดังนั้นการที่บริษัทจะถือเอาการวิจารณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างพนักงาน จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
กรณีของซูซา รายงานระบุว่าเธอเคยทำงานในตำแหน่งช่างเทคนิคการแพทย์ฉุกเฉิน โดยหัวหน้างานของซูซาต้องการให้เธอเขียนรายงานเรื่องคำต่อว่าจากลูกค้าต่อกระบวนการทำงานของเธอ ปรากฏว่าซูซาปฏิเสธว่าตัวเองไม่มีความผิด จึงระบายออกบนเฟซบุ๊กโดยโพสต์ข้อความกระทบกระเทียบหัวหน้างานว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยผู้ร่วมงานของเธอหลายคนร่วมตอบความเห็น ซึ่งบางส่วนปรากฏถ้อยคำหยาบคาย โดยการโพสต์ทั้งหมดทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้านของซูซาเอง
อดีตหัวหน้างานของซูซาไม่ได้ระบุว่าเธอถูกไล่ออกเพราะคำวิจารณ์บนเฟซบุ๊ก แต่เพราะความบกพร่องในประสิทธิภาพในฐานะสมาชิกกลุ่ม
แน่นอนว่าสาวอเมริกันรายนี้ไม่ใช้พนักงานคนแรกที่ถูกไล่ออกจากบริษัทเพราะการโพสต์ข้อความวิจารณ์เจ้านายในเครือข่ายสังคม แต่เธอคือคนแรกที่ได้รับการปกป้อง ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในยุคดิจิตอลที่บริษัทส่วนใหญ่เน้นหนักเรื่องการควบคุมเสียงวิจารณ์ในเครือข่ายสังคม
"หากพนักงานเสียความรู้สึกกับหัวหน้างาน และร่วมกันใช้เวลาส่วนตัววิจารณ์ พูดถึง หรือเรียกชื่อหัวหน้างานรายนั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้" โจนาธาน ไครสเบิร์ก (Jonathan Kreisberg) ประธานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อเมริกันให้สัมภาษณ์9jvนิวยอร์กไทมส์ โดยระบุว่าการที่องค์กรออกนโยบายควบคุมการแสดงออกบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นสิ่งที่ล้ำเส้น และไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้แรงงานมีสิทธิแสดงออกในสิ่งที่ต้องการ
แม้หน่วยงานรักษาสิทธิแรงงานอเมริกันจะชี้ช่องว่าพนักงานสหรัฐฯมีสิทธิ์แสดงความเห็นในเครือข่ายสังคมได้ตามชอบ แต่ไม่ได้แปลว่านับจากนี้มนุษย์เงินเดือนจะสามารถใส่ไฟหัวหน้างานได้เต็มที่ เนื่องจากบริษัทยังสามารถเอาผิดพนักงานตามกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ที่เน้นให้ความสำคัญต่อเจตนาในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งยังเป็นเส้นด้ายบางเบาที่ทำให้การโพสต์ข้อความวิจารณ์เป็นความผิดได้
ที่ผ่านมา เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊กนั้นเป็นโลกแห่งการสื่อสารที่อุดมไปด้วยเรื่องส่วนตัว นินทา และข่าวสารหลากรส จุดนี้รัฐบาลอเมริกันตระหนักดีว่าจะต้องเข้ามากำกับดูแลการสื่อสารบนเฟซบุ๊กอย่างจริงจัง โดยคาดว่าในเดือนมกราคมนี้ สหรัฐฯจะมีกฎหมายใหม่ที่ระบุถึงสิทธิในการใช้งานเครือข่ายสังคมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่มา: manager.co.th