Author Topic: กูเกิลขายเน็ตบุ๊ก?  (Read 956 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

กูเกิลขายเน็ตบุ๊ก?
« on: November 04, 2010, 09:40:01 PM »

Offline Nick

  • Administrator
  • Platinum Member
  • *
  • Posts: 46028
  • Karma: +1000/-0
  • Gender: Male
  • NickCS
    • http://www.facebook.com/nickcomputerservices
    • http://www.twitter.com/nickcomputer
    • Computer Chiangmai


ภาพจำลอง เน็ตบุ๊กระบบปฏิบัติการโครมโอเอส


สำนักข่าวต่างประเทศอ้างแหล่งข่าวไม่ระบุนาม ว่ากูเกิล (Google) จะเริ่มวางจำหน่ายคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊กที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการโครมโอเอส (Chrome Operating System) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่น่าสนใจคือความเชื่อว่ากูเกิลจะรุกตลาดด้วยร้านค้าออนไลน์หรือ Webstore ของกูเกิลเอง ไม่จำหน่ายในร้านค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสาขาทั่วสหรัฐฯอย่างเบสต์บาย ถือเป็นการหวนคืนวงการธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่จะทำให้กูเกิลกลายเป็นหนึ่งในนักชิงชัยประจำสังเวียนคอมพ์รุ่นเล็กราคาประหยัด ทั้งเน็ตบุ๊กและแท็บเล็ตอย่างไอแพด (iPad) และแอนดรอยด์ (Android)
       
       สำนักข่าวดิจิไทมส์ (Digitimes) รายงานว่าเน็ตบุ๊กโครมโอเอสจะถูกติดแบรนด์กูเกิล และวางจำหน่ายผ่านร้านออนไลน์ของกูเกิลลักษณะเดียวกับสมาร์ทโฟนเน็กซัสวัน (Nexus One) ซึ่งกูเกิลถอดใจและยกเลิกสายการผลิตไประยะหนึ่งแล้ว โดยดิจิไทมส์ระบุว่าเน็ตบุ๊กของกูเกิลจะถูกผลิตโดยบริษัทนามอินเวนเทค (Inventec) มาพร้อมชิปประหยัดพลังงาน ARM จำนวนการจัดส่งงวดแรก 60,000-70,000 เครื่อง
       
       ประชาสัมพันธ์ของกูเกิลปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานของดิจิไทมส์ตามคาด โดยระบุว่ารายงานของดิจิไทมส์เป็นเพียงข่าวลือ และกูเกิลไม่มีนโยบายให้ความเห็นบนข่าวลือหรือคำคาดเดา
       
       ระบบปฏิบัติการโครมโอเอส (Chrome OS) คือระบบปฏิบัติการออนไลน์ที่กูเกิลพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานบนคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก จุดเด่นคือการเป็นระบบปฏิบัติการที่มีพื้นฐานอยู่บนเว็บเบราเซอร์โครม (chrome) ไม่ได้ถูกติดตั้งในฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์แบบระบบปฏิบัติการรุ่นเก่าอย่างวินโดวส์ ของไมโครซอฟท์และแมคอินทอช ของแอปเปิล ทำให้โครมโอเอสสามารถทำงานได้เร็วและไม่กินทรัพยากรมาก ซึ่งกูเกิลเคยให้สัมภาษณ์ว่าตั้งเป้าพัฒนาให้คอมพิวเตอร์โครมโอเอสสามารถเริ่มทำงานและเปิดเว็บเพจบนโลกออนไลน์ได้ใน 2-3 วินาทีหลังการกดสวิตช์
       
       ข้อมูลจากดิจิไทมส์ตรงกับข้อมูลที่กูเกิลเคยกล่าวถึงเมื่อครั้งเปิดตัวโครมโอเอส ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของโครมโอเอสคือคอมพิวเตอร์เน็ตบุ๊ก ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์พกพาตัวเล็กที่เน้นความสามารถในการเล่นอินเทอร์เน็ต โดยมีราคาต่ำกว่า คุณสมบัติน้อยกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า และขนาดเล็กกว่าคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทั่วไป
       
       นอกจากเน็ตบุ๊กแบรนด์กูเกิลที่จะวางจำหน่ายเฉพาะร้านออนไลน์ ดิจิไทมส์ย้ำว่าเน็ตบุ๊กโครมโอเอสแบรนด์อื่นจากผู้ผลิตรายหลักอย่างเอเซอร์และเอชพี (Hewlett-Packard) จะแจ้งเกิดเพื่อเริ่มเปิดตลาดได้ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเครื่องเหล่านี้จะออกวางขายในร้านค้าปลีกตามปกติ
       
       แน่นอนว่าข่าวลือนี้สร้างความตื่นเต้นให้นักสังเกตการณ์ในโลกไอที เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่ากูเกิลจะพยายามบุกเบิกธุรกิจจำหน่ายเน็ตบุ๊กเองบนร้านออนไลน์ เพราะแผนดังกล่าวมีลักษณะไม่ต่างจากแผนซึ่งกูเกิลเคยเตรียมไว้ให้เน็กซัสวันไม่ผิดเพี้ยน ทำให้ทุกคนรอดูว่ากูเกิลจะใช้ความล้มเหลวในครั้งนั้นเป็นบทเรียนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่นี้อย่างไร
       
       เน็กซัสวันเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นเดียวที่ติดแบรนด์กูเกิลและวางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์โดยกูเกิล เป็นสมาร์ทโฟนฝีมือการผลิตของเอชทีซี (HTC) ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.1 กูเกิลเริ่มวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคมปีที่แล้วในราคา 529 เหรียญสำหรับรุ่น unlock ที่เปิดเสรีให้ผู้ใช้ใช้งานบนเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ใดก็ได้ และ 179 เหรียญสำหรับรุ่น lock ที่กำหนดให้ผู้ใช้ต้องใช้งานเครือข่ายข้อมูลของ T-Mobile เป็นเวลา 2 ปี แต่แล้วเน็กซัสวันก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทำให้กูเกิลถอดใจประกาศปิดร้านในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
       
       จุดนี้ นักวิเคราะห์ยอมรับว่ายังสับสนเพราะไม่แน่ใจว่าแรงดลใจใดทำให้กูเกิลต้องการจำหน่ายเน็ตบุ๊กด้วยตัวเอง เนื่องจากปัจจัยในตลาดเน็ตบุ๊กและสมาร์ทโฟนเน็กซัสวันมีความแตกต่างกัน โดยก่อนหน้านี้ ชัดเจนว่าเน็กซัสวันนั้นเป็นความตั้งใจของกูเกิลในการลดบทบาทโอเปอเรเตอร์ที่มีต่อกระบวนการซื้อขายโทรศัพท์ในสหรัฐฯ เพื่อเปิดเสรีให้ผู้บริโภคอเมริกันมีทางเลือกในการใช้งานเครือข่ายข้อมูลกับโอเปอเรเตอร์รายใดก็ได้ แต่ในกรณีของเน็ตบุ๊ก กูเกิลไม่จำเป็นต้องลดบทบาทโอเปอเรเตอร์เพราะการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ชาวอเมริกันเพียง 6% เท่านั้นที่ซื้อเน็ตบุ๊กกับโอเปอเรเตอร์
       
       จุดเดียวที่กูเกิลจะสร้างความต่างได้หากวางจำหน่ายเน็ตบุ๊กเอง คือความเชื่อมั่นว่ากูเกิลจะให้บริการเทคนิคซับพอร์ตหรือการสนับสนุนด้านเทคนิคที่ดีกว่า แต่ถึงกระนั้น การจำกัดพื้นที่จำหน่ายเฉพาะโลกออนไลน์ก็ทำให้กูเกิลขาดโอกาสในการเข้าถึงผู้ใช้กลุ่มใหญ่ ที่ยังให้ความสำคัญกับการได้ทดลองสัมผัสใช้งานก่อนการซื้อจริง ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องรอความแน่ชัดจากกูเกิลต่อไป
       
       Company Related Link :
       Google


ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)