"การ์ดเนอร์" บริษัทวิจัยด้านไอทีรายใหญ่จากสหรัฐ คาดการณ์สถานการณ์การใช้จ่ายไอทีขององค์กรทั่วโลกในปีนี้ว่า จะมีการใช้จ่ายลดลงประมาณ 3.8% หรือประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2551 ที่มีการใช้จ่ายเกือบ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่อง จากบริษัทส่วนใหญ่ต่างปรับลดงบประมาณการใช้จ่ายด้านไอทีลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ตัวเลขที่ลดลงครั้งนี้นับเป็นตัวเลขที่มากที่สุด นับตั้งแต่ 8 ปีที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์ฟองสบู่แตกยุคดอตคอม โดยคราวนั้นยอดการใช้จ่ายด้านไอทีลดลง 2.1%
"ริชาด กอนดอน" นักวิเคราะห์จากการ์ดเนอร์ กล่าวว่า "การชะลอตัวขยายวงกว้างขึ้นและตอนนี้ฝ่ายไอทีขององค์กรทั่วโลกกำลังถูกกดดันให้ลดงบประมาณ"
จากรายได้ที่ลดลงของบริษัทต่างๆ ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณว่า ตลาดคอนซูเมอร์และคอร์ปอเรตล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้หลายบริษัทลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบดาต้าเซ็นเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และสินค้าแก็ดเจตต่างๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2009 หรือช้าที่สุด คือ ปี 2010
การ์ดเนอร์ได้จำแนกการเติบโตของแต่ละเซ็กเมนต์ในกลุ่มอุตสาหกรรมไอที (ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, การบริการและโทรคมนาคม) พบว่า ตลาดฮาร์ดแวร์ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจะมีอัตราการเติบโตลดลง 15% หรือประมาณ 3.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะยอดขายคอมพิวเตอร์จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ในส่วนของพีซีตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊กลดลง 9.2% หากคิดเป็นมูลค่าอาจลดลงถึง 20% เนื่องจากการชะลอตัวของยอดขายในตลาดเกิดใหม่และการซื้อเครื่องใหม่ทดแทนที่น้อยลง โดยเฉพาะโซนยุโรปที่พบว่าการ หดตัวของเศรษฐกิจมีมากกว่าที่เคยประมาณการ
ด้านบริการไอทีพบว่า องค์กรต่างๆ จะใช้จ่ายเงินเพื่อรับบริการไอทีน้อยลง 1.7% หรือประมาณ 7.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการให้บริการให้คำปรึกษาที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นลดน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการปรึกษาด้านไอทีลดน้อยลงตามไปด้วย
ขณะที่การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสื่อสารปัจจุบันมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายไอทีทั้งหมด คาดว่าจะลดลง 2.9% เหลือประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดที่หดตัวลงมาจากการใช้จ่ายของคอนซูเมอร์ที่ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ลดลง โดยการยืดอายุการใช้งานมือถือเครื่องเก่านานขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการข้อมูลแบบไร้สายลดลง
ส่วนตลาดซอฟต์แวร์จะเป็นเพียงเซ็กเมนต์ เดียวในปีนี้ที่จะมีโอกาสเติบโต แม้ว่าจะเห็นการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณ 0.3% หรือประมาณ 222.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ได้บาลานซ์ช่องทางจำหน่ายให้ผสมผสานกันมากขึ้น การพัฒนาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ใหม่ๆ ออกมา และการรักษารายได้โดยยืดหยุ่นข้อตกลงต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต
"ฟาบิซิโอ บิสกอตติ" นักวิเคราะห์จากการ์ดเนอร์ กล่าวว่า ตลาดบริการ software as a service (SaaS) คาดว่าจะมีการเติบโตในปีนี้มากกว่า 20% แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนของการให้บริการ SaaS มีเพียง 7-8% ของค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรธุรกิจเท่านั้น ดังนั้น ตัวเลขการเติบโตจึงยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายไอทีโดยรวมได้
อย่างไรก็ตาม การ์ดเนอร์เตือนว่า ตัวเลขการเติบโตอาจจะปรับลดได้อีก 1-2% หากสภาพเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่ต่อเนื่อง
ค่ายวิจัยยักษ์ใหญ่ยังกล่าวถึงแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐบาลว่าอาจจะไม่สามารถช่วยฟื้นอุตสาหกรรมไอทีได้มากนักในระยะเวลาอันสั้น เพราะถ้าสถานการณ์ในตลาดโลกยังไม่มีความมั่นคง การใช้จ่ายด้านไอทีจะยังคงอ่อนตัวอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม นอกจากนี้กลุ่มลูกค้า คอนซูเมอร์และธุรกิจจะหันมาใช้สินค้าที่มีราคาต่ำลงมากขึ้น พร้อมกับการยืดอายุการใช้งานสินค้าที่ตนมีอยู่ให้ยาวนานขึ้น
ขณะเดียวกัน พบเทรนด์ว่าองค์กรส่วนใหญ่ต้องการ optimize ค่าใช้จ่าย ทำให้ระบบเวอร์ชัวไลเซชั่นมีความต้องการในตลาดมากขึ้น เพราะเป็นอีกหนทางที่ทำให้แวลูของบริษัทถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้การลงทุนระบบเวอร์ชัวไลเซชั่นขององค์กรต่างๆ ยังมีอยู่ รวมถึงจะเห็นเทรนด์การใช้ซอฟต์แวร์ระบบเปิดอย่างแพร่หลายมากขึ้น
สำหรับภาคอุตสาหกรรมการเงินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักและเป็นต้นตอของวิกฤตครั้งนี้ พบว่า การใช้จ่ายด้านไอทีของกลุ่มสถาบันการเงิน บริษัทประกันภัยและบริษัทลงทุนต่างๆ ยังคงรักษาการลงทุน อยู่ เพราะสถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตัวเพื่อให้ระบบของตนสอดคล้องกับกฎหมายของรัฐบาล
ที่มา: matichon.co.th