"แอพพลิแคด" เปิดตัวเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถูกที่สุดในโลกเป็นครั้งแรกในไทย ชี้จุดเด่นมีคุณภาพงานสูงใกล้เคียงกับการใช้งานจริง ส่งผลไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่ต้องใช้แม่พิมพ์แบบเดิม เผยเทรนด์บริษัทชั้นนำของโลก แห่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ DDM
นายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอพพลิแคด จำกัด ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการออกแบบวิศวกรรมอย่างครบวงจร กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เปิดตัว เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่น UPrint ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ที่ราคาถูกที่สุดในโลกไทย โดยจำหน่ายในราคา 799,000 บาท จากปกติเครื่องพิมพ์ 3 มิติส่วนใหญ่ในตลาดมีราคาจำหน่ายหลักล้านบาท
อีกทั้งครั้งนี้ยังถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย โดยบริษัทได้ทำการเปิดตัว เครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่น UPrint อย่างเป็นทางการ ในงาน Photo Imaging Expo ซึ่งเป็นงานกล้องและงานพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ภายในงานบริษัทยังนำเสนอชิ้นงานวังสระปทุมที่สร้างจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยการออกแบบภาพวังสระปทุม ด้วยโปรแกรม 3 มิติ จากนั้นทำการพิมพ์ออกมาด้วยเครื่อง พิมพ์ 3 มิติ ซึ่งเป็นการจำลองโมเดลวังที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับวังต้นแบบอีกด้วย โดยงานเริ่มขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 1 เมษายน จนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน 2552 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
สำหรับคุณสมบัติเครื่องพิมพ์ 3 มิติ รุ่น UPrint เป็นเครื่องที่ใช้เทคโนโลยี RP (Rapid Prototype การสร้างชิ้นงานต้นแบบ) ชิ้นงานที่พรินต์ออกมามีความทนทานสูง เพราะเป็นพลาสติก ABS และชิ้นงานไม่มีการหดตัว เครื่องมีขนาดกะทัดรัด สามารถวางบนโต๊ะทำงานได้ ใช้งานง่ายเพียงมีไฟล์ 3มิติ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา และข้อผิดพลาด จากการผลิตจริง สามารถรองรับการทำงานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น Testing Mockup Jig fixture และไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3มิติ เริ่มต้นจากแนวคิด ร่างแบบ เขียนแบบ ลงรายละเอียด จนไปสู่การออกแบบโมเดลในลักษณะ 3มิติ (3D CAD) จากนั้นสามารถสร้างชิ้นงานต้นแบบด้วยเครื่อง พิมพ์ 3มิติ ให้เสร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว สามารถนำชิ้นงานไปทดลองใช้ได้เบื้องต้นก่อนขั้นตอนการผลิตจริง ปัจจุบันการประยุกต์ใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีคุณภาพงานสูงและมีค่าความแม่นยำมากขึ้น วัสดุที่ใช้มีความแข็งแรงใกล้เคียงกับการใช้งานจริง เช่น พลาสติก ทำให้สามารถนำชิ้นงานนี้ไปใช้งานได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตแบบเดิมที่ต้องใช้การทำแม่พิมพ์ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการสร้างแม่พิมพ์เพื่อฉีดชิ้นงานพลาสติกเพียงไม่กี่ชิ้น เช่น การผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เฉพาะด้าน ถ้าใช้เทคโนโลยี DDM ทำให้สามารถลดต้นทุน และสามารถผลิตชิ้นงานได้ทันที ทำให้ได้ต้นทุนการผลิตต่อตัวที่ถูกกว่ามาก และได้ชิ้นงานที่เร็วขึ้น เทคโนโลยีนี้จึงถูกเรียกว่า "Direct Digital Manufacturing (DDM)" โดยปัจจุบันบริษัทชั้นนำของโลก ในหลากหลายประเภทธุรกิจ อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้านสถาปัตยกรรม ด้านวิศวกรรม เป็นต้น ได้นำเทคโนโลยีการผลิตแบบ DDM ไปใช้ประโยชน์ทั้งในส่วนของการลดต้นทุนและเวลาการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในปัจจุบันมากขึ้น
ที่มา: thannews.th.com