Author Topic: โซลูชั่นงานพิมพ์ตลาดนี้สู้กันที่ 'แวลูแอด'  (Read 920 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

* จับตาบริษัทผู้ค้าพรินเตอร์ เตรียมเปิดศึกตลาดพรินเตอร์องค์กร หลังพบศักยภาพสูง
       
       * แอบดอดหาตลาดเป้าหมายถึงบ้าน เสนอตัว 'ที่ปรึกษา' งานพิมพ์
       
       * เอชพี ประเดิมก่อนใคร เปิดแคมเปญระดับภูมิภาค 'When Everything Counts' มาพร้อมทั้งโซลูชั่น+การเงิน
       
       * บราเดอร์ไม่ยอมน้อยหน้า ขายแนวคิด Balanced Deployment ลดต้นทุนกันเห็นๆ
       
       นักวิจัยตลาดคาดการณ์การลงทุนด้านไอทีของกลุ่มผู้ใช้องค์กรว่า จะมีความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้น ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไอทีออกไประยะหนึ่ง รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่า เซฟกันสุดๆ สถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่บริษัทไอทีไม่ค่อยอยากจะเห็น
       
       ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานอย่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค จะระบุในรายงานวิจัยตลาดไอทีในประเทศไทยว่า การใช้จ่ายตามภาคเศรษฐกิจของตลาดไอทีในปีที่แล้วภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนเป็นกลุ่มหลักที่ใช้จ่ายในไอทีถึง 173,442 ล้านบาท หรือ 76.3% ขณะที่ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายเพียง 53,064 ล้านบาท นั่นหมายถึงว่า ตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กรและภาครัฐ ยังเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินลงทุนอยู่
       
       'แม้ว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันจะอยู่ในสภาวะถดถอย แต่ตลาดไอทีในเอเชียแปซิฟิกยังคงได้รับการคาดหวังว่าจะสามารถขยายตัวได้ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ องค์กรธุรกิจต่างมุ่งหวังและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายด้านการซื้อสินทรัพย์ที่จะกลายเป็นต้นทุนให้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สามารถจัดการและควบคุมได้แทน อันเนื่องมาจากผู้บริหารต้องการรักษาความคล่องตัวทางด้านเงินสดและเลื่อนภาระทางการเงินออกไปให้ยาวนานขึ้น' สมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการทั่วไป กลุ่มธุรกิจภาพและการพิมพ์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) หรือเอชพี กล่าวถึงแนวคิดการใช้ไอทีของบริษัทองค์กรให้ฟัง
       
       เมื่อแนวคิดการลงทุนระบบไอทีเปลี่ยนไป จึงเป็นโจทย์สำคัญให้กับบริษัทไอทีจะต้องมองหาแคมเปญการตลาดใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้บริษัทห้างร้านยอมรับกับแนวคิดดังกล่าว โดยเฉพาะงานพิมพ์ภายในองค์กรที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญในองค์กร ถึงแม้จะมีความพยายามควบคุม กวดขันเรื่องเหล่านี้ก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายงานพิมพ์ก็ยังคงเป็นปัญหาที่หลายๆ องค์กรแก้ไม่ตกเสียที
       
       สมชัย กล่าวต่อว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนทางธุรกิจที่ทุกบริษัทต้องหันมาใส่ใจในเงินทุกบาทที่ใช้จ่ายไป เมื่อทุกอย่างมีความสำคัญสำหรับการตัดค่าใช้จ่ายในสภาวะการดำเนินธุรกิจที่มีความท้าทายเช่นนี้ เอชพีมีความพร้อมที่จะเป็นเหมือนบริษัทคู่ค้าที่จะเข้ามาช่วยหาหนทางแบบเร่งด่วนและรวดเร็วเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
       
       'สิ่งแรกที่เราเข้ามาช่วยได้ก็คือ คำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ด้วยการตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นและคาดไม่ถึง'
       
       เอชพีจะช่วยหาทางออกให้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดความกดดันเรื่องกระแสการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ สามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายในเรื่องการพิมพ์ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่คุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โซลูชั่นด้านการพิมพ์ เครื่องมือเสริม และโปรแกรมสนับสนุนต่างๆ รวมถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการบริหารงานพิมพ์แบบ Managed Print Services หรือเอ็มพีเอส ที่เป็นเครื่องยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจควรหันไปให้ความสำคัญแก่บริการดังกล่าว และคว้าโอกาสเพื่อการประหยัดต้นทุนอย่างเร่งด่วน จึงจะสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้ผลยิ่งขึ้น และเพิ่มพูนประสิทธิผลภายในบริษัท และเมื่อมีการปรับเวิร์กโฟลว์ด้านงานเอกสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้การบริหารต้นทุนทางไอทีและธุรกิจคุ้มค่ามากที่สุด
       
       นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมอย่างไอดีซีได้ให้ข้อสังเกตว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจมีความต้องการทางด้านบริการการพิมพ์แบบ Managed Print Services เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วทั้งภูมิภาค เช่นเดียวกับความต้องการใช้งานโซลูชั่นที่ล้ำหน้าเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจส่จงผลสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในธุรกิจองค์กร
       
       สมชัย ยังกล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดที่จะกระตุ้นตลาดให้เห็นความสำคัญต่อโซลูชั่นการพิมพ์ว่า เอชพีนำเสนอกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า When Everything Counts สำหรับลูกค้าทุกระดับสู้วิกฤตเศรษฐกิจในปีนี้ ด้วยวิธีการแปลงค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนให้เป็นค่าใช้จ่ายที่จัดการและควบคุมได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการพิมพ์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและพลังงาน นอกจากนี้ มีโซลูชั่นและบริการที่มีความยืดหยุ่นเสนอเป็นทางเลือกเพิ่มเติม สนับสนุนการทำงานของลูกค้าระดับเอสเอ็มบีและลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่
       
       'ด้วยข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าประสบความสำเร็จในการวางกลยุทธ์ด้านการลดต้นทุนทั้งแบบทันทีและในระยะยาวท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกคำนวณเป็นเงินต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น'
       
       กลุ่มเป้าหมายภายใต้กลยุทธ์ When Everything Counts นั้น ทางเอชพีมุ่งเจาะใน 2 ตลาดหลัก คือ กลุ่มเอสเอ็มบี กับกลุ่มเอนเตอร์ไพรส์
       
       ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มบี ทางเอชพีนำเสนอในรูปแบบโซลูชั่นและบริการเพราะมีข้อจำกัดปัญหาความกดดันด้านงบประมาณ โดยเอชพีมีโปรแกรมแปลงค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนให้เป็นค่าใช้จ่ายที่จัดการและควบคุมได้ ด้วยโครงการ HP Leasing Program ลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และค่าดำเนินการด้วยโปรแกรมการใช้พรินเตอร์ เอชพี ออฟฟิศเจ็ต โปร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ผู้ใช้บริการสามารถอัปเกรดพรินเตอร์ที่มีอยู่โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าฮาร์ดแวร์เพิ่ม
       
       โปรแกรมนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ต่อหน้าได้ถึง 50% และยังช่วยลดพลังงานเมื่อเทียบกับเลเซอร์พรินเตอร์แบรนด์อื่นๆ และยังช่วยประหยัดพลังงานด้วยเทคโนโลยี Instant-on ของพรินเตอร์ เอชพี เลเซอร์เจ็ตที่สามารถเริ่มการพิมพ์หน้าแรกได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานได้สูงสุด 50% เหนือกว่าการใช้เทคโนโลยีฟิวเซอร์แบบเก่า
       
       ผู้ที่เลือกใช้โปรแกรมนี้ จะต้องซื้อหมึกพิมพ์จำนวน 2 ตลับต่อเดือน โดยมีระยะเวลาผ่อนจ่ายเป็นรายเดือนตลอดระยะเวลาการใช้งานอย่างต่ำ 12 เดือน ซึ่งจะช่วยเอสเอ็มบีลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ได้มากกว่า 50%
       
       'จากรายงานของการ์ทเนอร์ องค์กรสามารถลดค่ากระดาษต่อปีได้อย่างน้อย 30% โดยเลือกการพิมพ์ 2 หน้าไว้เป็นค่ามาตรฐานในพรินเตอร์ทั่วทั้งองค์กร'
       
       เอชพีได้นำจุดนี้มาเสนอแนะให้ผู้ใช้ลดการสิ้นเปลืองของกระดาษ โดยการตั้งค่าการพิมพ์เป็นแบบ 2 หน้าอัตโนมัติ หรือ Duplex Printing และด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลดิจิตอลของ HP เช่น การส่งแฟกซ์ไปยังอีเมลและการจัดการไฟล์ดิจิตอลจะทำให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนเอกสารไปเป็นดิจิตอลฟอร์แมต ช่วยลดการใช้กระดาษและลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย และด้วยโซลูชั่น Color Access Control ช่วยจัดการงานพิมพ์สีเพื่อประหยัดต้นทุน ลูกค้าสามารถควบคุมและตรวจสอบการพิมพ์ได้
       
       สำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ เอชพีได้เตรียมโปรแกรมบริหารจัดการงานพิมพ์ ด้วยการสนับสนุนการบริหารจัดการกระแสเงินหมุนเวียน ภายใต้ข้อเสนอสัญญาการให้บริการที่มีความยืดหยุ่น ด้วยบริการที่เรียกว่า HP Managed Print Services ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานด้านภาพและการพิมพ์ได้มากถึง 30% แถมยังช่วยจัดการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และบริหารสภาพแวดล้อมงานด้านภาพและการพิมพ์ได้ง่าย
       
       ส่วน HP Optimization Assessment เป็นอีกบริการหนึ่งในโปรแกรมที่ช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนาแผนการใช้งานพรินเตอร์ และปรับสภาพแวดล้อมการพิมพ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อหาโซลูชั่นที่จะตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย คำนวณอัตราการคืนทุน การทำสำเนาภาพเอกสาร แนะวิธีการใช้การดูแลรักษาเครื่องพิมพ์ทั้งหมดในองค์กรได้ในระยะยาว
       
       ข้อเสนอจะเป็นในรูปของการแบ่งจ่ายผ่อนชำระได้ตามระยะที่ต้องการแทนที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการทั้งหมดในคราวเดียวดังแต่ก่อน ผู้ใช้ที่เลือกโปรแกรมนี้สามารถเลือกบริการประกันสินค้าหลังการขายเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองนานกว่าเดิมจากระยะเวลาประกันมาตรฐาน 12 เดือน
       
       'หากทำสัญญาเพื่อรับบริการหลังการขายสำหรับพรินเตอร์ที่กำหนดหรือมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์ที่มีระยะเวลานาน 3-5 ปี สามารถเลือกที่จะไม่ต้องจ่ายค่าบริการใดๆ ในช่วง 12 เดือนแรกของสัญญาได้'
       
       สมชัย กล่าวด้วยว่า แคมเปญดังกล่าวจะช่วยให้เอชพีมียอดขายเติบโตขึ้น 20% จากปัจจุบันเอชพีมีส่วนแบ่งการตลาดพรินแตอร์ในกลุ่มเอสเอ็มอีราว 38% ขณะที่กลุ่มองค์กร 41% โดยรวมแล้ว เอชพีมีส่วนแบ่งตลาดพรินเตอร์ราว 40% คาดว่า แคมเปญดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นส่วนแบ่งการตลาดได้เพิ่ม 20% ขณะที่ตลาดหมึกพิมพ์ คาดว่าจะเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 25%
       
       'ธุรกิจการพิมพ์กำไรส่วนใหญ่มาจากหมึก เพราะฮาร์ดแวร์มีมาร์จิ้นที่ต่ำมาก เพราะการแข่งขันราคาที่รุนแรงดังนั้นผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นถึงอยู่รอด และผู้ที่อ่อนแอจะหายไปจากตลาด ผู้ค้าที่จะอยู่ได้ต้องปรับตัวจากการขายเครื่องอย่างเดียวมาเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุม'
       
       เมื่อถามถึงแคมเปญดังกล่าวเป็นเสมือนที่ปรึกษาในโซลูชั่นการพิมพ์ที่มาพร้อมทั้งผลิตภัณฑ์และการเงิน แล้วเอชพีได้อะไร สมชัย กล่าวว่า สิ่งที่เอชพีทำจะเป็นผลบวกในระยะยาว ในการสร้างรายได้จากการบำรุงรักษาและบริการ ช่วยให้สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากกว่าเดิม นอกเหนือจากขายฮาร์ดแวร์อย่างเดียว นอกจากนี้เป็นการขยายตลาดหมึกแท้ของเอชพีอีกทาง เพราะถ้าไม่ทำโอกาสที่ลูกค้าจะหันไปใช้หมึกปลอมก็มีมากขึ้น ขณะที่ลูกค้าองค์กรก็สามารถรักษาเงินสดหมุนเวียนและนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักภาษีประจำปีได้
       
       บราเดอร์รุกตลาดองค์กร
       
       ดูเหมือนแนวคิดต้องการกระตุ้นตลาดองค์กรด้วยโซลูชั่นการพิมพ์ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเอชพี มีความคล้ายกับแนวทางการรุกตลาดลูกค้าองค์กรของ 'บราเดอร์' ที่ต้องการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดองค์กรเพิ่ม หลังจากที่ประสบความสำเร็จในตลาดคอนซูเมอร์ด้วยมัลติฟังก์ชั่นพรินเตอร์มาแล้ว
       
       ด้าน ธีรวุธ ศุภพันธ์ภิญโญ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปีนี้เรามีแนวคิดที่จะขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นอีกตลาดหนึ่ง ในปีที่แล้วบราเดอร์มีส่วนแบ่งตลาดลูกค้าองค์กรเพียง 10%
       
       กลยุทธ์ที่บราเดอร์เตรียมใช้บุกตลาดพรินเตอร์ในกลุ่มลูกค้าองค์กร 'Balanced Deployment'
       
       ธีรวุธ กล่าวต่อว่า บราเดอร์ได้เริ่มนำแนวคิดที่เรียกว่า Balanced Deployment เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการงานพิมพ์ในองค์กรให้เกิดความสมดุลและลงตัวที่สุด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมของลักษณะงานกับขนาดหรือประเภทของพรินเตอร์ การจัดวางตำแหน่งของพรินเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ในออฟฟิศที่สร้างความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน รวมไปถึงซอฟต์แวร์ในการบริหาร ซึ่งช่วยให้องค์กรลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน
       
       'แต่เดิมการเลือกซื้ออุปกรณ์พรินเตอร์ในองค์กรมักประเมินจากต้นทุนโดยรวมของการเป็นเจ้าของ หรือ Total Cost of Ownership เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อเครื่องและอุปกรณ์ ปริมาณการพิมพ์ การรับประกัน ข้อตกลงในการให้บริการ และวัสดุสิ้นเปลืองเช่น หมึกพิมพ์'
       
       แต่มักไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายแอบแฝง อาทิ เวลาที่ใช้ในการเดินไปยังเครื่องพิมพ์ เวลาที่เสียไปในการรอคิวงาน การขาดการใช้งานที่เหมาะสม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ตามมามากมายโดยที่องค์กรอาจจะไม่ได้ตระหนักถึง
       
       ธีรวุธ กล่าวอีกว่า การนำปัจจัยในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาเพื่อให้องค์กรได้เห็นถึงต้นทุนที่แท้จริง และได้ประสิทธิผลของการลงทุนอย่างสูงสุด นั่นเป็นวิธีการของการประยุกต์ใช้แนวคิด Balanced Deployment ซึ่งดำเนินการโดยทางทีมผู้เชี่ยวชาญของบราเดอร์ที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญ ตั้งแต่การประเมินการจัดวางระบบไอทีภายในขององค์กร ขั้นตอนการทำงานของแผนกต่างๆ ตลอดจนถึงรูปแบบของงานพิมพ์ที่ใช้ในแต่ละแผนกขององค์กร จากข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมด ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมในการตอบสนองการทำงานขององค์กรนั้นๆ
       
       'ทางบราเดอร์จะทำการสำรวจเพื่อวิเคราะห์ความต้องการ โดยดูความต้องการทั้งของแผนกและตัวบุคคล หลังจากนั้น ก็จะทำการสำรวจเพื่อวิเคราะห์การใช้งานของแต่ละแผนกในองค์กร ถัดมาก็จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อทำการออกแบบและคัดเลือกเครื่องพิมพ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานและทำการติดตั้งพรินเตอร์ สุดท้ายก็จะทำการเชื่อมโยงบริการจัดการพรินเตอร์ภายในองค์กร และก็ทำการเชื่อมโยงซอฟต์แวร์บริหารจัดการพรินเตอร์ที่อยู่ในเครือข่าย'
       
       ธีรวุธ กล่าวเสริมว่า บริการให้คำปรึกษานั้นไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายแต่ประการใด สิ่งที่เราจะได้จากแนวคิดนี้ก็คือ รายได้จากการขายเครื่องทั้งฮาร์ดแวร์และผงหมึก ซึ่งของเราต่างจากแบรนด์อื่น
       
       ถึงแม้บราเดอร์จะไม่ได้เป็นหน้าใหม่ในตลาด แต่สำหรับตลาดองค์กรแล้ว ธีรวุธ ยอมรับว่า ในสัดส่วนยอดขายของบราเดอร์เอง ตลาดลูกค้าองค์กรในปีที่แล้วมีเพียง 10% เท่านั้น แต่สำหรับปีนี้เมื่อมีการนำเสนอแนวคิดเรื่อง Balanced Deployment แล้ว น่าจะทำให้บราเดอร์มีสัดส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 20%
       
       'ในทางกลับกัน ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ โอกาสที่บราเดอร์มีรูมในการทำตลาดสูง ด้วยโซลูชั่นที่เรามี เทคโนโลยีที่เป็นของบราเดอร์เอง'
       
       เมื่อถามถึงข้อดีที่องค์กรนำแนวคิด Balanced Deployment ธีรวุธ กล่าวว่า แน่นอนว่า Balanced Deployment จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพงานพิมพ์แผนกต่างๆ ในองค์กรดีขึ้น ด้วยการกระจายการใช้งานพรินเตอร์ให้เหมาะสม ตรงกับความต้องการ โดยใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการบริหารจัดการที่อยู่ภายในเครื่องพรินเตอร์ของบราเดอร์ ไม่ต้องซื้อหรือติดตั้งซอฟต์แวร์เพิ่มแต่ประการใด
       
       'เป็นการลงทุนที่สามารถวัดผลได้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนโดยรวม Total Cost of Ownership ที่มาพร้อมกับประสิทธิผลที่เพิ่มขึ้น'
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ลดลงหลังจากการประยุกต์ใช้ Balanced Deployment ธีรวุธ กล่าวว่า สามารถลดต้นทุนของพรินเตอร์และอุปกรณ์ได้ถึง 15% ลดค่าใช้จ่ายค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ 37% ค่าวัสดุการพิมพ์และพลังงาน 30% ค่าใช้จ่ายของสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป 17% ค่าบำรุงรักษาและบริการ 25% มีความเป็นไปได้ในการลดค่าซ่อมแซม 4% ค่าติดตั้งและอัปเกรดอุปกรณ์ 5%
       
       'แนวคิด Balanced Deployment ได้รับการพัฒนาโดยเน้น Benefit-oriented เป็นหลัก โดยจะต้องมีจำนวนพนักงานในองค์กรตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป'

ที่มา: manager.co.th


 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)