นายจุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
ไอซีทีเผยยอดเว็บหมิ่นพุ่งโดยเฉพาะการโพสต์ภาพหมิ่นสถาบันมีมากกว่า 82% เร่งระดมไอเอสพีขอความร่วมมือนำพ.ร.บ.คอมพ์ฯไปบังคับใช้ควบคุมด้วยตัวเอง ขู่หากไม่ทำไอซีทีจะลุยเข้าไปจัดการเอง เผยเอกชนเสนอให้ปรับปรุงฮอตไลน์ 1111และ 1212 ทำงาน 7 วัน 24 ชม.
นายจุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตรายย่อย (ไอเอสพี) จำนวน 17 ราย เข้าพบเพื่อขอความร่วมมือสกัดเว็บไซต์ไม่เหมาะสมทุกประเภท หลังจากพบว่าจำนวนเว็บไซต์ไม่เหมาะสมเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเว็บหมิ่นสถาบันฯมีมากกว่า 82% โดยส่วนใหญ่เป็นการหมิ่นด้วยการใช้รูปภาพตัดต่อ
"ที่เชิญไอเอสพีมาเพื่อขอความร่วมมือสกัดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่กลับมามีจำนวนสูงขึ้นโดยเฉพาะเว็บหมิ่นสถาบัน ซึ่งสูงกว่าเว็บหมิ่นที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง ส่วนสาเหตุที่ทำให้จำนวนเว็บไซต์เพิ่มสูงขึ้นนั้นยังไม่สามารถทราบได้ต้องรอให้ผู้ประกอบการสรุปมานำเสนออีกที"
อย่างไรก็ดีการขอความร่วมมือครั้งนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพียง 7 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ บริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่น บริษัท ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท บริษัท สวัสดีช้อป บริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท ทีโอที และบริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้มีอีก 10 บริษัทไม่ได้เข้าร่วมประชุมทั้งที่ตอบรับว่าจะเข้าร่วมรวมแล้วถึง 10 รายได้แก่ บริษัท อคิวเมนท์ บริษัท ซีเอส ล็อกอินโฟ บริษัท ทรานแปซิฟิก เทเลคอม(ประเทศไทย) บริษัท ไอ-เวิลด์ คอนเนค บริษัท บีบี คอนเน็ค บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค บริษัทไฟเบอร์ เอเชีย บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค และ บริษัท เทเลโกลบัล
"การขอความร่วมมือครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่ตกปากรับคำว่าจะเข้าร่วม แต่กลับไม่ยอมมาถึง 10 ราย โดยการสกัดกั้นเว็บไม่เหมาะสมจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากไอเอสพีซึ่งเป็นเสมือนถนนนำเว็บไซต์และข้อมูลต่างๆ ไปสู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต"
นายจุติกล่าวว่า ไอซีทีได้ขอความร่วมมือให้ไอเอสพี ควบคุมตรวจสอบโดยนำพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไปบังคับใช้กับเว็บไซต์ที่ผ่านไอเอสพีรายนั้นๆ ได้ทันทีเพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมดูแลได้ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯอยู่แล้ว แต่หากยังไม่ดำเนินการไอซีทีจะเป็นผู้เข้าไปควบคุมดูแลด้วยตัวเองและหากไอเอสพียังละเลยจะประสานงานไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ให้ยึดใบอนุญาตเพื่อเป็นตัวอย่าง
ทั้งนี้ การจัดการเว็บไซต์ไม่เหมาะสมแบ่งเป็นโซนดำ(แบล็กโซน) คือการโพสต์ภาพ และเขียนข้อความที่ผิดพ.ร.บ.คอมพ์ฯอย่างชัดเจน เช่นโพสต์ภาพตัดต่อหมิ่นสถาบัน สามารถดำเนินการปิดกั้นได้ทันที ส่วนโซนสีเทา(เกรย์โซน) คือมีการนำเสนอภาพและข้อความที่อาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.คอมพ์ฯ ต้องมีการเก็บข้อมูลหลักฐาน และดูเจตนาเพื่อดำเนินการปิดกั้นต่อไป
สำหรับในการขอความร่วมมือครั้งนี้ไอเอสพี ได้เสนอให้ไอซีที ไปปรับปรุง ฮอตไลน์ 1111 และ 1212 โดยระบุว่ายังทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควรเพราะที่ผ่านมาทำงานในวันและเวลาราชการเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ไอซีทีได้รับเรื่องไว้และจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เร็วที่สุดโดยอาจจะปรับให้ดำเนินการ 7 วัน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที เป็นหัวหน้าชุดพิเศษ เพื่อดูแลเว็บการพนัน เว็บลามกอนาจาร และเว็บไซต์ขายยา
Company Related Link :
MICT
ที่มา: manager.co.th