Author Topic: ลุ้นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ปีนบันไดสู่อันดับ 2 เวทีโลก  (Read 1004 times)

0 Members and 1 Guest are viewing this topic.

Offline Reporter

  • Moderator
  • Gold Member
  • *
  • Posts: 1093
  • Karma: +8/-0
  • Gender: Male
    • ซ่อมคอมเชียงใหม่

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นโลก กระทบต่อภาคการลงทุนในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม แต่สำหรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นั้นกลับยิ่งตื่นตัว เพราะหลายหน่วยงานหันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น จึงเร่งผลักดันอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ เริ่มตั้งแต่บุคลากร เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก คาดว่าจะเป็นกุญแจสำคัญ และบทบาทที่ทำให้ประเทศไทยทัดเทียมต่างชาติได้

 

ด้วยเหตุนี้ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของคุณภาพซอฟต์แวร์ จึงริเริ่มผลักดันเรื่องการพัฒนาระบบคุณภาพของการผลิตซอฟต์แวร์ให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ มาตลอด 10 ปี และยังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามกรอบมาตรฐานระดับสากล

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า จากการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจซอฟต์แวร์ของประเทศด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และมุ่งเน้นการส่งเสริมการใช้ไอทีภายในประเทศให้สูงขึ้น แต่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทั้งคุณภาพและปริมาณกลายเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน ก็กำลังกลายเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะทำให้ปักธงซอฟต์แวร์ไทยสู่ตลาดโลกได้

 

“บทบาทของกระทรวงวิทย์ฯ ผ่านซอฟต์แวร์พาร์ค จึงได้วางแผนสนับสนุนแผนปักธงซอฟต์แวร์ไทยในตลาดโลกด้วยมาตรฐาน Personal Software Process หรือพีเอสพี เป็นยุทธศาสตร์นำมาตรฐานโลกด้านซอฟต์แวร์สร้างรายได้ให้กับประเทศ หลังจากที่ได้ส่งเสริมกระบวนการพีเอสพีให้เกิดขึ้นแล้ว กระทรวงวิทย์ฯ จะมุ่งเน้นผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการรับงานจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สนับสนุนให้เกิดการลงทุนทางด้านธุรกิจซอฟต์แวร์เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศในระยะยาว” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยสู่มาตรฐานสากล (Personal Software Process Initiative) เพื่อสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีวินัย ทักษะ และความรู้ในด้านกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพในระดับบุคคล หรือ Personal Software Process (PSP) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดยสถาบัน SEI (Software Engineering Institute) จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีเพียง 333 คนจากทั่วโลกที่ผ่านมาตรฐานนี้ และแต่ละประเทศกำลังมีแผนที่จะขยายบุคลากรในส่วนนี้เพิ่ม โดยถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ซอฟต์แวร์พาร์คจะใช้ในการปักธงธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยเข้าสู่ระดับโลก

 

ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือทีเอ็มซี  อธิบายว่า ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสบการณ์ด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ มากกว่า 2 ปีขึ้น สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับดีมากอย่างน้อย 1 ภาษา และมีความสามารถในการขยายองค์ความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานได้ สมัครในนามบริษัทเท่านั้น ทั้งนี้คุณสมบัติของบริษัทที่สามารถส่งบุคคลเข้าร่วมโครงการฯ ได้ต้องประกอบธุรกิจรับพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคล มีคนไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 51% 

 

รองผอ.ทีเอ็มซี อธิบายเพิ่มเติมว่า บุคลากรที่ได้รับ Certified PSP Developer จะช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรงและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องให้หยั่งรากลึก โดยเริ่มบ่มเพาะจิตสำนึกให้บุคลากรรู้จักวัดผล และวิเคราะห์ผลการทำงานของตนเอง เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ รวมถึงมีขั้นตอน และวินัยในการทำงานส่งผลให้องค์กรเติบโต เข้มแข็ง อย่างยั่งยืน ทำให้ช่วยเพิ่มตัวเลขผลตอบแทนทางด้านการลงทุน ให้องค์กร เนื่องจากพีเอสพีจะช่วยให้บุคลากรใช้เวลาในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ดร.สุพัทธ์ ชี้แจงด้วยว่า Certified PSP Developer ขององค์กรจะเป็นแรงบันดาลใจ และกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานการผลิตซอฟต์แวร์ขององค์กร เพื่อต่อยอดในการประเมินวุฒิภาวะระดับองค์กรต่อไป เช่น CMMI เป็นต้น ขณะที่ ซอฟต์แวร์พาร์คได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ดร.สุรเดช จิตประไพกุลศาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ เข้ารับการอบรมและผ่านการสอบเพื่อเป็น SEI Authorized PSP Instructor อย่างเป็นทางการแล้ว

 

“ผลจากโครงการพีเอสพี จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการปักธงเรื่องการสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีวุฒิภาวะสูง และมีจำนวนนักพัฒนาที่ได้รับการรับรองคุณภาพระดับบุคคล หรือ Certified PSP Developer เป็นที่ 2 ของโลก เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของบุคลากรด้านไอที ของประเทศไทยว่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในเวทีโลกต่อไป” ดร. สุพัทธ์ กล่าว

 

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ข้อมูลว่า ม.นเรศวรจัดเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่นำความรู้ด้านพีเอสพี มาใช้ประกอบการสอน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนานักเขียนซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐานทุกระบบ คือ PSP TSP และ CMMI ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นจุดศูนย์กลางในเขตภาคเหนือตอนล่างในการรองรับการสร้างคนด้านซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพป้อนให้กับตลาดทั้งในและนอกประเทศต่อไป โดยได้บรรจุเอาไว้ตั้งแต่ในหลักสูตรปริญญาตรี สามารถผลิตบุคลากรด้านนี้ปีละ 20 คน และในระดับปริญญาโท-เอก ในด้านการวิจัยขั้นสูงอีกปีละ 5 คน หลักสูตรพีเอสพี จะเป็นวิชาเพิ่มเติมในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในคณะวิศวกรรมศาสตร์ภายในปี 2554 หรืออีก 2 ปีด้วย โดยจะแทรกพีเอสพี ในการเรียนการสอนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ทุกชั้นปี

 

นายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามาตรฐาน CMMI เพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มผลิตผลในทางปฏิบัติของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้ครบถ้วน แต่พีเอสพีจะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องดังกล่าว ทางศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุนพร้อมสนับสนุน โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการและนักลงทุนร่วมมือกับ สวทช.

 

จากการคาดการณ์ของ นายแกรี่ โคช ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการสำรวจการใช้จ่ายของไอที ประจำ ไอดีซี เอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ปี 2552 มูลค่าของตลาดไอทีไทยอยู่ที่ 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะปรับลดลง 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การเติบโตจะลดลงจาก 10.2% เหลือ 6.7% คาดว่ากลุ่มบริการและซอฟต์แวร์จะเป็นส่วนที่เติบโตสูงที่สุดในปี 2553 หรือปีหน้า ทั้งเอาท์ซอร์สโอเปอเรชั่นและบริการบำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวดขนส่งและภาครัฐ

 

ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการสำรวจการใช้จ่ายของไอที ไอดีซี ชี้แจงต่อว่า ซอฟต์แวร์การเติบโตจะมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือซิสเต็มอินฟราสตรัคเจอร์ และเครื่องมือบริหารจัดการ โดยแนวโน้มดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์จากโครงส้าง พื้นฐานที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการทำกำไรด้วย   


ขณะที่สถานการณ์วิกฤตกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม จนทำให้หลายหน่วยงานต้องปิดตัวลง แต่น่าประหลาดใจ ที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับยังคงอยู่ และคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจด้วย เนื่องจาก องค์ประกอบหลัก คือการพัฒนาคน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว เพราะในอนาคตไม่แน่นักว่าพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย อาจเป็นหนึ่งที่ก้าวกระโดดข้ามขั้นขึ้นสู่นัมเบอร์วันของโลกก็เป็นได้…

กนกรัตน์ โกวิชัย
itdigest@thairath.co.th


ที่มา: thairath.co.th



 
Share this topic...
In a forum
(BBCode)
In a site/blog
(HTML)