แนวคิดการทำธุรกิจแบบกลับด้านของ "ปฐมา จันทรักษ์" นายหญิงคนแรกของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ที่ไม่ขอเอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง
แต่พลิกบทบาทสู่ "ที่ปรึกษา" ไม่ใช่สักแต่จะขาย แต่สิ่งที่ขายต้องเหมาะสมกับลูกค้าให้มากที่สุด
ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่มีต่อองค์กรพี่เบิ้มธุรกิจซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) แทบจะเหลือเป็นศูนย์ ตรงกันข้ามกลับได้รับอานิสงส์จากการที่หลายองค์กรหันมาปรับกระบวนการทำงานโดยนำซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากแค่ครึ่งปีงบประมาณที่ผ่านมา (เริ่ม ก.ค.2551) รายรับของไมโครซอฟท์และพาร์ทเนอร์ มีอัตราการเติบโตสวนกระแสไปอยู่ที่ 26%
... ยังไม่หนำใจ เพราะปี 2552 "ปฐมา จันทรักษ์" นายหญิงไมโครซอฟท์แง้มให้ฟังว่าตั้งเป้าที่จะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกที่ 35%
นับถึงวันนี้ก็ 2 ปีแล้ว หลัง ปฐมา เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปี 2550
เริ่มต้นการทำงานขึ้นขวบปีที่ 3 ปฐมา ต้องบริหารธุรกิจท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจทั่วโลก ถึงแม้ว่าทิศทางของธุรกิจยังไปได้สวยแต่ใช่ว่าผู้บริหารหญิงคนนี้จะเพิกเฉยต่อวิกฤติที่เกิดขึ้น
พฤศจิกายน ปี 2551 ไมโครซอฟท์ทั่วโลก ริเริ่มแคมเปญรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยให้แต่ละประเทศใช้ชื่อแคมเปญและรายละเอียดแตกต่างกันไป สำหรับประเทศไทย ปฐมา ใช้ในชื่อ ‘Crisis Turning Point’ หรือ จุดเปลี่ยนในวิกฤติ ที่มุ่งชี้ให้ลูกค้าองค์กรทั้งหลาย มองเห็นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"จุดเปลี่ยนในวิกฤติ" แคมเปญที่ว่าด้วย 3 หัวใจหลัก ประกอบด้วย การใช้ไอทีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไอทีเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่าย และ ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงานในองค์กร
มุมมองของ ปฐมา จึงเห็นว่าวิกฤติเช่นนี้ เมื่อมองมุมกลับ จะกลายเป็นโอกาสที่ไร้ขีดสำหรับไมโครซอฟท์และคู่ค้าได้
เมื่อดูจาก 3 คำมั่นสัญญาซึ่ง ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานในปี 2552 อันได้แก่ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี (Technology Leader) การเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ (Trusted Advisor) และ การเป็นผู้ผลักดันการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Citizenship)
จะเห็นได้ว่า ไม่มีตรงจุดไหนที่พูดถึงการขายหรือยอดขาย
“เราไม่เคยเลือกว่าจะทำธุรกิจ หรือ จะทำสิ่งดีๆ คืนให้สังคม เพราะเราเลือกที่จะทำทั้งสองอย่าง”
แม้แต่การเสนอตัวเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้ ปฐมา อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่าที่ปรึกษาอย่างไมโครซอฟท์คือการช่วยให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากไอทีที่ซื้อไปให้ได้มากที่สุด
นโยบายหลักไมโครซอฟท์จึงโฟกัสอยู่ที่ ไม่ได้คิดแต่จะขายซอฟต์แวร์ให้ได้มากๆ ให้ลูกค้าจ่ายเงินให้เยอะๆ แต่เรามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำและผลักดันให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ซื้อไปให้คุ้มค่ามากที่สุด
ปฐมา ยกตัวอย่าง เลขาฯ ของลูกค้า ที่ทำงานคอมพิวเตอร์เพียงเพื่อพิมพ์งานอย่างเดียว นอกเหนือกว่านั้น ไมโครซอฟท์จะทำหน้าที่เทรนเลขาฯ คนนั้นให้ทำงานได้เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี
ความพยายามในการส่งเสริมให้เด็กไทยคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ให้มากขึ้นก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้เปิดโครงการเพื่อการศึกษามาแล้วอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการมัลติพอยท์ เชื่อมต่อเมาส์ 30 ตัวมายังคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องเพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงการอบรมครูสอนคอมพิวเตอร์ และส่งไปแข่งขันกับครูจากทั่วโลกก็ปรากฏว่า คุณครูไทย คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้
การร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน พัฒนาเว็บไซต์ ตำบลดอตคอมwww.tumbon.com เพื่อให้ชุมชนสามารถนำสินค้าขึ้นไปขายผ่านอินเทอร์เน็ต
ล่าสุดกับโปรเจค "iCafe" ที่ไมโครซอฟท์เข้าไปสนับสนุนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่กว่าหมื่นแห่งทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของการนำเสนอซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ราคาพิเศษลด 80% พร้อมการตกแต่งร้าน และคอนเทนต์ด้านการเรียนรู้ เช่น ภาษาอังกฤษ เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทั้งกระตุ้นให้ตระหนักถึงซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังได้รับงบประมาณมาจากบริษัทแม่ที่เรดมอนต์มาช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานในประเทศไทย โดยร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ ในการช่วยเหลือคนตกงานที่คาดว่าจะมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน ทั้งการเทรนนิ่ง และการเข้าไปอยู่ในชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส และติดตามวัดผล โดยเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวโครงการในเร็วๆ นี้
การทำธุรกิจบนทัศนคติเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าคิดจะทำการกุศล เพียงแต่ปฐมา มองว่า ยิ่งส่งเสริมให้คนรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากเท่าใด ก็เท่ากับสร้างการเติบโตทางอ้อมให้กับไมโครซอฟท์เท่านั้น
"การให้" เท่ากับ "ได้รับ" สมการธุรกิจไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ความสำเร็จ ที่รอการพิสูจน์
ที่มา: bangkokbiznews.com